วันอาทิตย์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2560

khan academy

คือการเรียนรู้ผ่าน internet โดยเริ่มจากคุณ salman khan มีความชื่นชอบในการเรียนรู้ และเผยแพร่การสอนผ่าน internet เขาเริ่มจากการติวหนังสือ ให้กับญาติชื่อ nadia และเริ่มอัด vdo ลงบน youtube และได้รับความนิยมเป็นอันมาก ทำให้เขาลาออกจากงานประจำและเริ่มก่อตั้ง Khan academy ขึ้นนั้นเอง


วันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560

3 ขั้นตอนแก้ไขปัญหาง่ายๆ ใครๆก็ทำได้

ขั้นตอนง่ายๆ ในการวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยตัวเราเอง เอาไปใช้ในการทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิผลและสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืน 3 ขั้นตอนง่ายๆ ได้แก่

1. การวิเคราะห์ปัญหา
2. หาสาเหตุ
3. ค้นพบแนวทางแก้ไข

ในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราแน่นอนว่าย่อมมีปัญหาเกิดขึ้น บางคนเจอปัญหามากมาย บางคนเจอปัญหาเล็กน้อย บางคนเจอปัญหาเฉพาะหน้า แล้วเราจะมีวิธีการรับมือกับปัญหาเหล่านั้นอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ แล้วไม่กลับมาเจอปัญหานั้นๆ อีก


การวิเคราะห์ปัญหา

โดยพื้นฐานปัญหาจะมีอยู่สามลักษณะ ด้วยกันคือ

1. ปัญหาขัดข้อง
2. ปัญหาป้องกัน
3. ปัญหาพัฒนา

ปัญหาส่วนใหญ่จะมีลักษณะพื้นฐานอยู่ในปัญหาทั้งสามนี้ เมื่อเราพบเจอกับปัญหาใดๆ ก็ตามแล้วเราสามารถแยกให้ออกได้ว่าคือปัญหาลักษณะใด แนวทางการแก้ไขปัญหาก็จะเปิดออก ให้เราสามารถพัฒนาได้อย่างยั่งยื่นต่อไป การวิเคราะห์ปัญหาเราจะใช้เส้นเวลาในการแบ่งลักษณะของปัญหาออกเป็นทั้ง 3 ลักษณะดังนี้

ปัญหาขัดข้อง


ปัญหาขัดข้องหมายถึงปัญหาที่ปกติไม่เป็นปัญหาแต่แล้วก็เป็นปัญหา เราสามารถแก้ไขได้แล้วผ่านไป เช่น ปกติไปทำงานรถไม่ติดแต่วันนี้รถติดเพราะมีการซ่อมท่อน้ำ ถ้าเรารู้ล่วงหน้าเราก็สามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางที่รถติดได้ ปัญหาลักษณะนี้มักอยู่ไม่นาน และสามารถแก้ไขเฉพาะหน้าได้

ปัญหาป้องกัน


ลักษณะของปัญหาป้องกัน คือ เราสามารถคาดเดาได้ว่าในอนาคตจะเกิดปัญหาอะไรบ้าง คนส่วนใหญ่จะรู้ปัญหาเหล่านี้อยู่แล้วแต่มักจะเคยชินกับการที่ปัญหาเกิดก่อนแล้วค่อยหาทางแก้ เช่น ถ้าเราไม่ออกกำลังกายอนาคตร่างกายเราจะอ่อนแอ่ โรคภัยไข้เจ็บจะถามหา แต่ปัจจุบันเราก็ยังไม่ออกกำลังกาย ปล่อยให้โรคภัยไข้เจ็บถามหาเราถึงจะไปหาหมอ หรือเริ่มออกกำลังกาย ดังนั้นปัญหาป้องกันคือ เรารู้ว่าในอนาคตจะเป็นปัญหาแน่ๆ บางที่เราอาจจะรู้ถึงผลลัพธ์ของปัญหานั้นๆ หรือเราอาจจะประเมินผลลัพธ์ของปัญหานั้นน้อยไปก็เป็นได้

ปัญหาพัฒนา


ปัญหาพัฒนาหมายถึงปัญหาที่ปัจจุบันเป็นปัญหาอยู่ และอนาคตปัญหานี้จะทวีความรุนแรงมากขึ้น เช่น ปัญหารถติดในกรุงเทพ ปัญหาน้ำถ่วม ปัญหาพนักงานลาออก ปัญหาคนรักขี้บ่น ปัญหาลักษณะนี้เมื่อเกิดความเคยชินปัญหาจะไม่ถูกแก้ไขและกลายเป็นดินพอกหางหมู ลองนึกถึงเด็กที่พ่อแม่ตามใจเวลาไปเดินตามห้างซิครับ เด็กเคยร้องไห้เพื่ออยากได้ของเล่น และพ่อแม่ตามใจทุกครั้ง ทุกครั้ง และทุกครั้งที่พ่อแม่ไม่ซื้อให้ การร้องไห้ก็จะหนักขึ้นเรื่อยๆ กลายเป็นดินพอกหางหมูที่เราสามารถแก้ไขได้แท้ๆ


หาสาเหตุ

เมื่อเราระบุปัญหาได้แล้วสิ่งต่อมาคือการหาสาเหตุของปัญหา เพราะการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้นั้นต้องแก้ที่สาเหตุของปัญหา ดังการตัดต้นไม้หากเรามั่วแต่ตัดกิ่งก้านใบเดียวก็งอกขึ้นมาใหม่แถมจะมากกว่าเดิมอีกด้วย แต่หากเราตัดรากถอนโคนปัญหานั้นก็จะไม่งอกขึ้นมาใหม่ ธรรมชาติของสาเหตุมักจะมาจากเรื่องพื้นๆ ที่เรารู้อยู่แล้วแต่เราไม่ได้คิดถึงนั้นเอง การวิเคราะห์สาเหตุมีวิธีง่าย โดยผมยกมา 2 model ดังนี้

Model 3E’s + 1 ประกอบด้วย
Engineering
Enforcement
Education
Encourage

Engineering สาเหตุที่ระบบ โครงสร้าง ระเบียบ ข้อบังคับ เช่น ปัญหารถชนกัน อาจมีสาเหตุมาจากระบบเบรคของรถไม่สมบูรณ์หรือเสียทำให้เบรคไม่ทันรถชนกัน หรือ ปัญหาแฟนงอลที่ไม่ได้ทานเข้าเย็นด้วยกัน เพราะอีกคนต้องทำงานดึก ก็อาจจะมาจากปัญหาโครงสร้างเวลาในการทำงานก็เป็นได้

Enforcement การบังคับใช้ การรักษาสัญญา การปฏิบัติตาม สาเหตุประเภทนี้มักจะมาจากการขาดจิตสำนึกในการทำหน้าที่ของตนเอง เช่น สามีสัญญากับภรรยาว่าจะนำขยะไปทิ้งแต่ก็ลืมทุกครั้ง หรือ คนขับรถจอดรถในที่ห้ามจอด สาเหตุมาจากการขาดจิตสำนักในการปฏิบัติตามนั้นเอง

Education การศึกษา ความรู้ ความเข้าใจ เป็นไปได้ว่าสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาคือการที่ ขาดความรู้ในเรื่องนั้นๆ อย่างแท้จริง ลองนึกถึงเวลาเราขับรถไปเที่ยวสถานที่ๆ เราไม่เคยไปมาก่อน ไม่รู้ว่ามีปั้มน้ำไหมอยู่ที่ไหน ห้องน้ำ อาหาร ที่พัก ประมาณว่าถ้าดึกๆ นี่เจออะไรพุ่งเข้าใส่อย่างเดียว ผมเคยมีประสบการณ์ครั้งหนึ่ง ไปต่างจังหวัดปวดห้องน้ำมาก แต่ไม่รู้ว่าจะมีปั้มน้ำมันอยู่อีกไกลแค่ไหน ก็จอดยิ่งกระต่ายข้างทาง สาเหตุนี้อาจนำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุก็เป็นได้

Encourage ถ้าทุกอย่างมันดีหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่มีโครงสร้างดี การบังคับใช้เยี่ยม ความรู้แน่น อาจเป็นไปได้ว่าสาเหตุของปัญหาจะมาจากการขาดการส่งเสริมสนับสนุน จนกลายเป็นเรื่องที่ไม่รู้จะทำไปทำไม ทำให้กลายเป็นสาเหตุของปัญหาได้เช่นกัน เช่น น้ำเน่าเสียในคลองจากการที่ชาวบ้านโยนเศษขยะทิ้งลงไป เพราะเห็นว่าใครๆ ก็ทำ ไม่ได้มีการสนับสนุนส่งเสริมในทางที่ดี ทำให้สาเหตุนี้ยังเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับน้ำตามมาอีกมากมาย

Model 3M’s + E ประกอบด้วย
Man
Machine
Media
Environment

Man คน สาเหตุหลักของทุกปัญหาเกิดจากคน คนขาดความรู้ ขาดทักษะ ความแรงจูงใจ ขาดหลายๆ อย่างจนกลายเป็นสาเหตุของปัญหาส่วนใหญ่ ดังนั้นการแก้ปัญหาใหญ่ควรเริ่มวิเคราะห์คนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา

Machine เครื่องจักร อุปกรณ์ ก็อาจจะเป็นสาเหตุของปัญหาได้เช่นกัน เช่น ผมเคยเจอรถติดในซอยมากอย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน (ปกติในซอยบ้านรถจะไหลได้เรื่อย แต่วันนั้นรถไม่ขยับเลย) เมื่อมาถึง 4 แยกก็พบกับสาเหตุของปัญหาคือ ไฟสัญญานจราจรเสียทำให้รถต้องแย่งกันไปทางตรงก็มาเร็วมากทางออกจากซอยก็ไปไม่ได้ จริงๆแล้วเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ ก็เป็นสาเหตุของปัญหาได้เช่นกัน

Media การสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ ข้อมูลข่าวสาร อันนี้ถ้าผิดพลาดไปย่อมเป็นสาเหตุของปัญหาใหญ่ตามมาได้อย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อประมาณสิ้นปี 2559 Social Network Facebook ออกประกาศเตือนเรื่องแผ่นดินไหวในกรุงเทพมหานคร ทำให้ญาติพี่น้องโทรหาผมให้อพยพออกจากกรุงเทพ ปัญหานี้เกิดจากการรับรู้ข่าวสารที่ผิดพลาดอย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะความเร็วของ Social Network ออกประกาศเตือนผิดพลาดเวลา ประมาณหนึ่งทุ่ม ไม่เกินทุ่มครึ่งทุกคนจะรู้เรื่องหมดแล้ว

Environment สภาพแวดล้อมก็เป็นสาเหตุหลักของปัญหาใหญ่ๆ เช่น ปัญหายาเสพติดในบางบริบท เกิดจากสภาพแวดล้อมในชุมชน สภาพแวดล้อมในโรงเรียน สภาพแวดล้อมของสังคมเพื่อน ก็เป็นปัญหาให้เยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติดได้ หรือลองนึกถึงเรื่องในออฟฟิศดูก็ได้ครับ ถ้าคนรอบตัวคุณอ้วน สักพักคุณจะอ้วนตาม มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่าคุณคือผลรวมของคน 5 คนรอบตัวคุณ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ น้ำหนัก นิสัย นี้ก็มาจากสาเหตุ สภาพแวดล้อมได้

เมื่อเราได้ทั้งปัญหา และทราบสาเหตุของปัญหานั้นๆ แล้วเราก็จะเริ่มมองเห็นแนวทางแก้ไขปัญหาได้ โดย 1 ปัญหาอาจมีหลายสาเหตุ 1 สาเหตุอาจใช้หลายแนวทางได้ และเมื่อเราวิเคราะห์ปัญหาเราอาจเจอกับปัญหาใหม่ขึ้นมา อย่าเอามารวมกันนะครับ ไม่งั้นปัญหาแรกจะไม่ได้แก้ ให้แยกไว้ก่อนแล้วนำมาวิเคราะห์ตามกระบวนการอีกครั้งก็ได้เช่นกัน


ค้นพบแนวทางแก้ไข

หลังจากที่เรา รู้ปัญหา รู้สาเหตุ เราก็เอาแต่ละสาเหตุมาแก้ไข เรียกว่าหาแนวทางแก้ไข ซึ่ง 1 สาเหตุอาจมีได้หลายแนวทาง ตัวอย่างการค้นพบแนวทางแก้ไข

ปัญหาอ้วน (น้ำหนักเยอะ)
มีสาเหตุมาจาก
1. กินจุกจิก
2. กินอาหารมีไขมันเยอะ
3. ไม่ออกกำลังกาย

คราวนี้เราก็เอา สาเหตุที่ 1. กินจุกจิก มาหาแนวทางแก้ไข ได้ดังต่อไปนี้
แนวทางแก้ไขที่ 1. ไม่พกเงิน ทำให้ไม่มีเงินซื้อขนม
แนวทางแก้ไขที่ 2. ดื่มแค่น้ำเปล่าเท่านั้น ห้ามดื่มน้ำที่มีน้ำตาลหรือครีมเทียมโดยเด็ดขาด
แนวทางแก้ไขที่ 3. ถ้าได้รับขนมที่มีคนเอามาฝากเราก็เอาไปให้คนอื่นทานแทน

จะเห็นว่าใน 1 สาเหตุเราก็สามารถหาแนวทางแก้ไขได้ 3 แนวทางด้วยกัน จากนั้นเราก็ไปหาแนวทางแก้ไขจากสาเหตุที่เหลืออีก 2 สาเหตุ นั้นเอง

คราวนี้เมื่อเราวิเคราะห์ปัญหาเป็นแล้วว่าเป็นปัญหารูปแบบไหน (ขัดข้อง ป้องกัน พัฒนา) และรู้ว่าเป็นสาเหตุประเภทไหน (3E’s+1 , 3M’s + E) และสามารถหาแนวทางแก้ไขได้เป็นที่เรียบร้อย ให้เรากำหนดผลลัพธ์ 3 ระดับเพื่อที่จะได้ยุติปัญหาได้อย่างชัดเจนและมีประสิทธิภาพ โดยผลลัพธ์ 3 ระดับมีดังนี้


ผลลัพธ์ 3 ระดับ

1. Ultimate Outcome
2. Outcome
3. Output

Ultimate Outcome คือผลลัพธ์ขั้นสูงสุดที่เราต้องการ หมายถึงว่า เมื่อแก้ไขปัญหานี้แล้วเราต้องการผลลัพธ์อะไรจากการแก้ไขปัญหาดังกล่าว เช่น ปัญหาอ้วน Ultimate Outcome อาจจะเป็น “สุขภาพดีมี ซิกแพ็ค” ถ้าจะบรรลุการแก้ไขปัญหานี้ได้ ต้องมีสุขภาพดี และต้องมี ซิกแพ็ค นั้นเอง

Outcome คือผลลัพธ์จากการแก้สาเหตุของปัญหา เช่น ปัญหาอ้วน มีสาเหตุจากการกินจุกจิก ดังนั้น Outcome ของเราอาจจะเป็น “ทานอย่างมีวินัยตามเวลา 3 มื้อเท่านั้น” หมายความว่าเมื่อแก้ไขปัญหาสำเร็จเราจะไม่สามารถทานของทานเล่นได้เลยนอกเวลาอาหาร 3 มื้อ

Output คือผลลัพธ์จากการบรรลุแนวทางแก้ไขปัญหา เช่น แนวทางไม่พกเงิน ผลลัพธ์ที่เราต้องการคือ ไม่ซื้อขนมใดๆ ทั้งสิ้น (ของกินเล่นจุกจิก)
นอกจากผลลัพธ์สามระดับแล้วเรายังต้องคำนึงถึงทรัพยากรที่เราใช้ในการแก้ไขปัญหาด้วยว่าประกอบด้วยอะไรในการเขียนแผนการแก้ไขปัญหา


ทรัพยากร

ประกอบไปด้วย เงิน คน เครื่องมือ ใช้เงินเท่าไร ใช้ใครบ้าง และใช้อุปกรณ์อะไรในการแก้ไขปัญหา ย้อนกลับไปดู ปัญหาอ้วน สาเหตุไม่ออกกำลังกาย แนวทางแก้ไขคือวิ่งทุกเช้า เข้าฟิตเน็ตทุกเย็น มีทรัพยากรมาเกี่ยวข้องแล้ว เช่น ต้องใช้เงินซื้อรองเท้าวิ่ง ใช้เทรนเนอสอนเล่นฟิตเน็ต ใช้อุปกรณ์จับเวลาหรือเครื่องยกน้ำหนัก ดังนั้นการเขียนแผนแก้ไขปัญหาต้องระบุสิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วยจะทำให้เราสามารถรู้ว่าเราจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ และยั่งยืนหรือไม่นั้นเอง

นี้ก็เป็นวิธีง่ายๆ ในการแก้ไขปัญหาที่นำมาฝากกันนะครับ (เรียนมาจากอาจารย์อีกทีครับ) ถ้าสิ่งที่ทุกท่านอ่านมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสามารถแชร์และแบ่งปันต่อได้ครับ




สิทธินันท์ มลิทอง
วิทยากร

061-824-6952

วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2560

Fish !! Philosophy



Fish Philosophy
หลักการ ฟิช !! หลักการปลา !!

คือหลักการที่จะเปลี่ยน หลุมขยะพิษให้กับมาเป็นสถานที่ที่น่าสนุก มีพลังงาน และน่าทำงานขึ้นมา จริงๆแล้วไม่ใช่แค่ที่ทำงานเท่านั้นแต่เรายังสามารถนำหลักการ ฟิช ไปใช้ในชีวิตประจำวัน สร้างความสัมพันธ์กับคู่รัก ครอบครัว เพื่อน สร้างความสัมพันธ์ที่ดีและแข็งแกร็งขึ้นมา อย่างที่ไม่มีใครคาดถึงได้

พื้นฐานหลักการ ฟิช มาจากตลาดปลา ไพคเพลส รัฐซีแอตเทิล เป็นร้านขายปลาเล็กๆ ที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ผ่านมา แขกผู้มาเยื่อนและลูกค้า ร่วมสนุกและมีความสุขกับร้านขายปลาแห่งนี้ ปรากฎการณ์นี้แบ่งบานและถูกถ่ายทอดโดย จอห์น คริสเตนเซน ผู้ที่ผ่านมาและสัมผัสได้ถึงพลังงานของสถานที่แห่งนี้

จอห์น คริสเตนเซน สอบถามจากร้านขายปลาแห่งนี้ถึง หลักการแห่งความสำเร็จ สิ่งที่ได้รับคือ “ความสนุก” เริ่มแรกเดิมที่ร้านขายปลาแห่งนี้ก็เหมือนกับร้านขายปลาทั่วๆ ไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษแต่แล้ววันหนึ่ง ทุกคนในร้านอยากเปลี่ยนแปลงตนเอง ให้เป็นที่โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อเป้าหมายชัดเจนการกระทำจึงเกิด

จอห์นเริ่มเฝ้าสังเกตุการทำงานของคนขายปลา แล้วสรุปออกมาเป็นหลักการ 4 ข้อ ด้วยกัน คือ Be there, Play, Make Their Day, Choose your Attitude จอห์นนำหลักการทั้ง 4 ร้อยเรียงออกมาเป็นเรื่องราวและเขียนเป็นหนังสือที่ขายดีไปทั่วโลก โดยหลักการทั้ง 4 มีวิธีการคิดวิธีการปฏิบัติดังนี้

Be There (ใส่ใจ) เริ่มแรกให้เราใส่ใจผู้คนรอบข้าง ด้วยการฟัง ฟังโดยไม่ตัดสิน แต่รับรู้ด้วยความเข้าใจ เข้าใจคนที่กำลังพูดกับเราใส่ใจในความรู้สึกและการกระทำของเขา ไม่ตัดสิน ไม่คิดเพื่อที่จะพูดตอบ แค่ฟังเพื่อเข้าใจ เริ่มแรกของการฝึกฟัง ให้เราลองไม่พูดดูครับ กลับบ้านไปวันนี้แล้วลองไม่พูดแต่รับฟังดู ถามได้แต่ไม่ตอบด้วยทัศนคติ ประสบการณ์ และความคิดของเรา มนุษย์เกิดมามีสองหู หนึ่งปาก แต่คนส่วนใหญ่มักใช้ปากเก่งกว่าหูซะงั้น

Play (เล่น) สร้างที่ทำงานเหมือนสนามเด็กเล่น ขยายความไว้วางใจออกไป การเล่นใช้ในการคิดแผนงานหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เริ่มแรกลองคิดถึงสิ่งที่ต้องการจริงๆ ก่อนคิดเยอะๆ คิดใหญ่ๆ คิดมากๆ คิดไปไกลๆ เช่น จะขายของยังไงให้ถึงมือลูกค้าด้วยความรวดเร็ว คิด คิด คิด อาจได้คำตอบเช่น ใช้เครื่องบิน บินไปส่ง ส่งทันทีเมื่อมีการสั่งซื้อ ฯลฯ ก็คิดให้แปลกและแตกต่างครับ จากนั้นถึงเริ่มวิเคราะห์หาความเป็นไปได้จากการคิด หรืออาจปรับแต่งความคิดให้สามารถนำมาใช้ได้จริง นอกจากความคิดที่ใช้ในการแก้ไขปัญหาและความคิดสร้างสรรค์
          เราต้องขยายสนามเด็กเล่น หมายถึงขยายสนามของความไว้วางใจ เพราะความไว้วางใจจะทำให้การทำงานมีความรวดเร็ว และลดต้นทุน ลองดูตัวอย่างนี้นะครับ บริษัทขายสินค้ากลัวพนักงานขโมยสินค้า จำเป็นต้องติดตั้งกล้องวงจรปิด จ้างพนักงานรักษาความปลอดภัยตรวจสอบสินค้าก่อนนำออก คุณคิดถึงเงินลงทุนที่เสียไปกับเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบดูสิครับ ในทางกลับกันหากเราขยายความไว้วางใจออกไปได้ยังพนักงาน เพื่อนรวมงาน ครอบครัว คนรัก ทั้งต้นทุนและระยะเวลาจะลดลงไปได้ขนาดไหน
          แล้วความไว้วางใจสร้างได้อย่างไร ความไว้วางใจมีต้นทุนต่ำแต่คุ้มค่าสุดๆ ง่ายๆ ด้วยลอง ไม่บ่น ไม่นินทาลับหลัง ไม่แข่งขัน ไม่พูดในสิ่งที่สร้างความเดือนร้อนให้ผู้อื่น ง่ายไหมครับ แต่ทำแล้วยากสุดๆ เพราะสังคมเราส่วนใหญ่มักจะชอบนินทา ว่าร้าย คิดร้าย ฉะนั้นเมื่อเรารู้แล้วว่า การสร้างความไว้วางใจสร้างได้ง่ายๆ ก็เราเปลี่ยนแปลงตัวเราเองดูครับ ลองหาข้อดี มองหาข้อดีของผู้อื่นก่อน อย่างพยายามมองหาแต่ข้อบกพร่อง โดยฉะเพราะคนรักหรือคู่ครอง แล้วคุณจะเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างที่ไม่คาดคิดมาก่อนเลยครับ ผมลองมาแล้วเชื่อผมเถอะ

Make Their Day (สร้างสรรค์วันดี) สร้างสรรค์วันดีคือ การมองหาความช่วยเหลือไม่ใช่เราขอความช่วยเหลือนะครับ แต่มองหาว่าเราสามารถให้ความช่วยเหลือผู้อื่นอย่างไรได้บ้าง ที่สำคัญ ความช่วยเหลือนั้นต้องไม่หวังสิ่งใดตอบแทน และที่ง่ายที่สุดต้องไม่ใช้เงินเพื่อช่วยเหลือ เพราะเมื่อไรที่คุณเปลี่ยนความสัมพันธ์เป็นเงินตรา คุณกำลังลดสนามเด็กเล่นให้ลดลง ความเชื่อใจ ความไว้วางใจ จะถูกเปลี่ยนเป็นความคาดหวังที่ยากจะหวนคืนกลับมาได้ ดังนั้นลองมองหาว่าคุณสามารถช่วยเหลือใครได้บ้างที่กำลังลองคอยความช่วยเหลือ และยังไม่ได้ลองขอ เช่น คุณมองเห็นเพื่อนร่วมงานกำลังมองหาสิ่งของอยู่ คุณอาจจะถามว่ากำลังหาอะไรและช่วยหาก็ได้ พรือคุณเห็นคนรักของคุณกำลังทำอาหารให้คุณทาน คุณก็สามารถเข้าไปช่วยเตรียมอาหารสร้างความสัมพันธ์ที่แข็งแกร่งได้เช่นกัน
          แต่อย่าลืมนะครับสร้างสรรค์วันดี ไม่ต้องใช้เงิน ไม่ต้องรอการร้องขอ และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่หวังสิ่งใดตอบแทน แล้วสร้างสรรค์วันดีของคุณจะได้ผลตอบแทนกลับมาแบบที่คุณไม่คาดคิดมาก่อน

Choose your Attitude (เลือกทัศนคติ) เพราะความคิดจะกลายเป็นพฤติกรรม เพราะพฤติกรรมจะกลายเป็นนิสัย เพราะนิสัยจะกลายเป็นสันดาน เพราะสันดานจะกลายเป็นชะตากรรม ดังนั้นสิ่งแรกและสำคัญที่สุดคือความคิดหรือก็คือทัศนคติของเรานั้นเอง คนที่กำหนดสภาวะอากาศรอบตัวคุณคือตัวคุณเอง เราสามารถเลือกหยิบทัศนคติที่เราคิดค้นขึ้นมาเอง ในการตื่นนอนทุกๆ เช้า ในแต่ละวันคุณเป็นผู้กำหนดสภาวะอารมณ์ของตัวคุณเอง ไม่ใช่บุคคลรอบข้าง คนรอบข้างอารมณ์ร้ายใส่คุณมา คุณเลือกที่จะตอบสนองด้วยอารมณ์และทัศนคติที่คุณเลือกได้ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นกับผมเอง ระหว่างเดินเข้าออฟฟิศ เพื่อนร่วมงานกำลังจะนำผ้าเช็ดตัวที่แขวงอยู่กับราวตากผ้าลงถังขยะ ผมโกรธมากชี้หน้าและโว้ยวาย พอผมเริ่มรู้สึกตัว ก็ต้องหยุดและเดินออกมา เพราะผมให้คนรอบข้างมาควบคุมอารมณ์และทัศนคติของผม ผมกลับมารวบรวมความคิดอีกครั้ง จริงๆ ผมแค่หยิบออกมาแล้วกลับมาทำงานต่อก็ได้ ดังนั้นการเลือกทัศนคติเราต้องฝึกฝนครับ เหมือนคำกล่าวที่ว่า เวลาที่ควรเริ่มปลูกต้มไม้คือเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว แต่เวลาที่ดีที่สุดคือวันนี้ นั้นเอง


ทั้งหมดนี้ก็คือหลักการสร้างความสุขในการทำงาน และการทำงานจะเหมือนกับการเล่นสนุกที่มีความสุด เปรี่ยมพลังงานอย่างที่คุณไม่เคยคาดคิดมาก่อนเลยละครับ

อ่านแล้วสนุกและมีประโยชน์ก็แชร์ได้นะครับ
สิทธินันท์ มลิทอง

วันพุธที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2560

The Leader in me "Rethink Leadership For Education"



18 มกราคม 2560
มีโอกาสเข้าร่วมงาน The Leader in me จัดโดยบริษัท PacRim เจ้าของลิขสิทธิ์หลักสูตรฝึกอบรม 7 Habits of Highly Effective People รวมกับสองโรงเรียน Leadership Lighthouse School คือโรงเรียนสาธิตบางนา กับโรงเรียนตันตรารักษ์ บรรยากาศภายในงานดูเหมือนมีพลังงานบางอย่าง

ช่วงแรกเป็นการฟังบรรยายจากตัวแทน Franklin Covey เล่าถึง Paradigm ของ The Leader in me ประกอบด้วย 5 Paradigm คือ

1. ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ ในอดีตเราเชื่อว่าบางคนเป็นผู้นำได้ ไม่ว่าจากการกำเนิด การฝึกฝน หรือโชคชะตา แต่เมื่อ Paradigm เปลี่ยนตอนนี้สิ่งที่เราต้องเชื่อคือ ทุกคนสามารถเป็นผู้นำได้ ยิ่งเราเชื่อมั่นอย่างแท้จริงมากเท่าไรผู้ที่เราเชื่อก็จะแสดงออกถึงคุณค่าและศักยภาพมากเกินกว่าที่เราจะจิตนาการได้

2. เด็กทุกคนมีความสามารถเฉพาะตัว ในการทดสอบเพื่อผ่านจากสถานศึกษาแห่งหนึ่ง นักเรียนประกอบไปด้วย นก หนู ช้าง ปลา ม้า สุนัข เต่า อาจารย์ให้ข้อสอบเพื่อเรียนจบจากสถานศึกษาใครสามารถปีนต้นไม้ได้ก็จะเรียนจบ ผมถามทุกท่านนะครับ ปลาจะปีนต้นไม้ยังไง เรื่องนี้เปรียบเปรยกับเด็กๆที่มีความสามารถที่แตกต่างกัน เราจะตัดสินเด็กทุกคนด้วยวิธีการเดียวกันได้อย่างไรกันละครับ

3. การเปลี่่ยนแปลงเริ่มที่ตัวเรา หากเรารอให้ผู้อื่นมาเปลี่ยนทุกอย่างก็สายไปแล้ว ถ้าหาก ไอน์สไตน์ ไม่สนใจอวกาศ โลกก็ไม่รู้จัก ทฤษฎีสัมพันธภาพ ถ้าหากนิวตั้นไม่สนในลูกแอ็ปเปิลที่ตกลงมา เราก็จะไม่รู้จักกับแรงดึงดูด ถ้าหาก โคลัมบัส ไม่ออกเดินทางเราก็จะไม่รู้ว่าโลกกลม ทุกการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าเล็กใหญ่ สำคัญไม่สำคัญเรเป็นผู้ตัดสินใจในการกระทำของเราทั้งสิ้น ดังนั้นทุกการเปลี่ยนแปลงเราจากตัวเราได้ ขอแค่เราเชื่อมั่นในสิ่งที่เราทำนั้นเอง

4. ครูปลดปล่อยศักยภาพให้นักเรียน เกิดจากเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูไม่ใช่ผู้ยัดเยียดความรู้แต่เป็นผู้สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ มีคำอยู่สองคำที่น่าสนใจคือ CAN กับ WANT หรือ สามารถกับอยาก โดยปกติเราจะสอนผู้อื่นให้สามารถทำได้ตามสิ่งที่เราต้องการให้ครูต้องการ ระบบต้องการ แต่เมื่อ Paradigm เปลี่ยนไป จากการบังครับให้เด็กต้องรู้ต้องทำเปลี่ยนมาเป็น ทำอย่างไรให้เด็กอยากทำต่างหาก คือโจทย์ที่เราต้องร่วมมาหาคำตอบจากทั้งครูและเด็กๆ

5. พัฒนาศักยภาพของนักเรียนในทุกด้าน เด็กทุกคนมีศักยภาพที่รอการปลดปล่อยเราไม่สามารถดึงศักยภาพด้านใดด้านหนึ่งก็จะไม่เกิดสมดุลของการพัฒนา ผู้สอนกับผู้เรียนต้องช่วยกันตั้งคำถามเรียนรู้เพื่อดึงศักยภาพออกมาด้วยกัน

ช่วงหลังเป็นการถามตอบ จากเด็กนักเรียนทั้งสองโรงเรียนที่อยู่ ทีมผู้นำ Lighthouse ช่วงนี้ผมชอบมากๆ เพราะการที่เด็กนักเรียนสามารถตอบคำถามด้วยหลักการของ 7 Habits มันช่างหน้าอัศจรรย์มากๆ

เด็กๆทั้ง 4  ต่างมีเป้าหมายในการปรักอบอาชีพของตนเองที่ชัดเจนมาก บอกได้ถึงรายละเอียดว่าเพื่อไปถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ต้องทำอย่างไรบาง แสดงให้เห็นถึงการนำอุปนิสัยทั้ง 7 เข้าไปอยู่ในโรงเรียนว่าได้ผลอย่างไรบาง นอกจากนั้นการที่เด็กนักเรียนพูดภาษา 7 Habits ในการตอบคำถามแสดงถึงภาวะผู้นำที่เห็นชัดและจับต้องได้อย่างไม่น่าเชื่อสายตา มี ผู้อำนวยการโรงเรียนจากทางภาคใต้ถามคำถามเด็กว่า อะไรคือปัจจัยของความสำเร็จในการนำ 7 Habits ไปใช้ในโรงเรียน (ผมนึกในใจ "มั่นใจนะว่านี้คือคำถามที่ใข้ถามเด็กๆ" โหดแท้) แต่สิ่งที่ต้องตกตลึงกันทั้งงานคือ เด็กช่วยกันตอบได้ดีมาก เสริมของกันและกัน เริ่มด้วยน้องผู้หญิงตอบเรื่องของบรรยากาศภายในโรงเรียนที่เหมาะสม น้องผู้ชายบอกครูและผู้ปกครองมีส่วนร่วม และปิดท้ายด้วย น้องอีกท่านหนึ่งคือ เริ่มจากตัวเราเอง ผมเป็นต่้องตบมือให้กับความสามารถุในการตอบที่ถูกหล่อหลอมขึ้นมาจาก อุปนิสัยทั้ง 7 นี้เอง

จากเวทีของเด็กๆ ตามด้วยเวทีของผู้อำนวยการทั้งสองโรงเรียนและตัวแทนผู้ปกครองสองท่าน

ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตบางนา เล่าถึงเด็กคนหนึ่งที่โกรธเพื่อนระหว่างลงเล่นน้ำ แล้วเด็กคนนี้ก็ยืนเฉยๆ ครูเลยเข้าไปถามว่าทำอะไรอยู่ครับ เด็กตอบว่า "ผมกำลังโกรธครับ ตอนนี้กำลังใช้ Proactive จัดการกับอารมณ์โกรธอยู่ครับ" นั้นคือเรื่องทีี่มหัศจรรย์มากๆ ที่เรื่องราวแบบนี้เกิดขึ้นกับเด็ก ลองคิดถึงว่าถ้าในสังคมไทยทุกคนมีอุปนิสัยที่ 1 คือ Proactive ความรุนแรงก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

และผู้อำนวยการโรงเรียนตันตรารักษ์ เล่าถึงการใช้ 7 Habits ภายในโรงเรียนว่าไม่ใช่การเพิ่มภาระแต่เป็นการลดภาระ อาจารย์เราว่า ถ้าเราเดินเข้าไปในห้องเรียนที่เด็กๆกำลังวิ่งเล่นก่อนเริ่มเรียน แล้วอาจารย์ผู้คำว่า Proactive เด็กจะเข้าใจทันทีและหยุดวิ่งเล่นกลับมาพร้อมที่จะเรียนรู้ต่อไป แต่ถ้าโรงเรียนไม่มีอุปนิสัย Proactive กว่าครูจะได้เริ่มสอนก็กินเวลาไปนานอยู่ 15 - 20 นาที แล้วครูก็จะเริ่มบ่นอีก กว่าจะได้เรียนก็หมดเวลาเสียแล้ว ดังนั้นการมี 7 Habits อยู่ภายในโรงเรียนเป็นการลดภาระให้กับครูและเป็นการเพิ่มเวลาที่มีคุณภาพในการเรียนให้กับนักเรียนนี้เอง

ส่วนผู้ปกครองทั้งสองท่านก็น่า อัศจรรย์มากจริงๆ ครับ การที่คุณแม่ทั้งสองเชื่อมั่นในลูกของตนเองและรับฟังสิ่งที่ลูกๆพูด และพร้อมที่จะเรียนรู้หลักการ 7 Habits จากลูกๆของตนเองเรียกได้ว่าเด็กจากทั้งสองโรงเรียนอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม ทั้งครู เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครอง ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาภาวะผู้นำ ตามหลักการของ 7 Habits นั้นเอง


สำหรับงานเขียนครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อทบทวนความรู้และแบ่งปันให้กับผู้ที่สนใจไม่มีวัตถุประสงค์แต่อื่นใดทั้งสิ้น ขอบคุณ PacRim ที่ให้เข้าร่วมงานด้วยครับ

สิทธินันท์ มลิทอง
19 มกราคม 2560